อาศัยอำนาจตามความแห่งมาตรา ๓๗(๑) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกอบกับมติที่ประชุมคณะกรรมการกำกับส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะกรรมการกำกับส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จึงออกประกาศ ไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเก็บเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันภัยรถยนต์ พ.ศ.๒๕๕๑”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
“นายทะเบียน” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการกำกับส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยหรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการกำกับส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยมอบหมาย
“บริษัท” หมายความว่า บริษัทที่ได้รับใบอุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยและหมายความรวมถึงสาขาของบริษัทประกันวินาศภัยต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยในราชอาณาจักร
“นายหน้าประกันวินาศภัย” หมายความว่า ผู้ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท โดยกระทำเพื่อบำเหน็จเนื่องจากการนั้น
“ตัวแทนประกันวินาศภัย” หมายความว่า ผู้ซึ่งบริษัทมอบหมายให้ทำการชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท
“การประกันภัยรถยนต์” หมายความว่า การประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์รวมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
ข้อ ๔ การเก็บเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันภัยรถยนต์ ให้บริษัทปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
การเก็บเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันภัยประเภทอื่น ให้บริษัทปฎิบัติตามประกาศนายทะเบียนว่าด้วยการเก็บเบี้ยประกันภัย ซึ่งออกตามกฏหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่มีอยู่เดิม
ข้อ ๕ บริษัทต้องจัดทำแนวปฏิบัติในการเก็บเบี้ยประกันภัยของบริษัทเป็นลายลักษณ์อักษร โดยต้องกำหนดรายละเอียดดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย
๕.๑ นโยบายการเก็บเบี้ยประกันภัย
๕.๒ นโยบายและวิธีการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับเบี้ยประกันภัยที่บริษัทอาจไม่ได้รับชำระ
๕.๓ ช่องทางรับเบี้ยประกันภัย
๕.๔ วิธีการแจ้งให้ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัย
๕.๕ การแต่งตั้งตัวแทนประกันวินาศภัย การมอบอำนาจเป็นหนังสือให้แก่พนักงานบริษัทหรือนายหน้าประกันวินาศภัยเก็บเบี้ยประกันภัยในนามบริษัท
๕.๖ หลักประกันที่บริษัทจะเรียกจากตัวแทนประกันวินาศภัย หรือผู้ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือให้เก็บเบี้ยประกันภัยในนามริษัท
๕.๗ วิธีรับส่งเอกสาร รวมถึงเอกสารทางการเงิน ระหว่างบริษัทกับผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านช่องทางต่างๆ
๕.๘ วิธีการควบคุมให้ตัวแทนประกันวินาศภัย หรือผู้ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือเก็บเบี้ยประกันภัยในนามบริษัท นำส่งหรือออกเอกสารการรับเงินของบริษัทให้แก่ผู้เอาประกันภัย
ให้บริษัทแจ้งแนวปฎิบัติในการเก็บเบี้ยประกันภัยให้นายทะเบียนทราบภายในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ และภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้ง
แนวปฏิบัติในการเก็บเบี้ยประกันภัยต้องไม่ขัดกับข้อกำหนดตามประกาศนี้
ข้อ ๖ การเก็บบี้ยประกันภัยในนามบริษัทให้กระทำได้โดย
(๑) ตัวแทนประกันวินาศภัยของบรัท
(๒) นายหน้าประกันวินาศภัยที่ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากริษัท
(๓) พนักงานบริษัทที่ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากบริษัท
ในกรณีผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่พนักงานบริษัท หรือนายหน้าประกันวินาศภัย ที่มิได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากบริษัทให้รับชำระเบี้ยประกันภัยในนามบริษัท หรือบุคคลหรือนิติบุคคลใด ที่บริษัทยอมรับการกระทำของบุคคลดังกล่าวโดยมอบกรมธรรม์ประกันภัยหรือเอกสารใดๆที่แสดงการรับประกันภัยของบริษัท ให้ถือว่าบริษัทได้ชำระเบี้ยประกันภัยโดยถูกต้องแล้ว
ความในวรรคสองไม่เป็นเหตุให้บุคคลที่เกี่ยวข้องพ้นความผิดตามที่กฏหมายกำหนด
ข้อ ๗ บริษัทต้องออกเอกสารแสดงการรับเงินของบริษัทให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุกครั้งที่มีการรับเบี้ยประกันภัย
ในกรณีที่มีการรับเบี้ยประกันภัยโดยผ้รับชำระเบี้ยประกันภัยในนามบริษัทตามข้อ ๖ บริษัทะต้องดำเนินการให้ผู้รับชำระเบี้ยประกันภัยในนามบริษัทออกเอกสารการรับเงินของบริษัททุกครั้ง
ข้อ ๘ บริษัทจะรับชำระเบี้ยประกันภัยที่เป็นตั๋วเงินได้ต่อเมื่อตั๋วเงินนั้นเป็นตั๋วเงินซึ่งพึงชำระเงินเมื่อทวงถามหรือเมื่อได้เห็น และบริษัทต้องเรียกเก็บเงินตามตั๋วเงินภายในสามวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับตั๋วเงินนั้น
ข้อ ๙ เมื่อบริษัท หรือผู้ชำระเบี้ยประกันภัยในนามบริษัทตามข้อ ๖ ได้รับชำระเบี้ยประกันภัยจากผู้ขอเอาประกันภัย ให้ถือว่าสัญญาประกันภัยมีผลใช้บังคับ
ทั้งนี้ ให้บริษัทเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยและรับชำระเบี้ยประกันภัยจากผู้ขอเอาประกันภัยให้ครบถ้วนทุกครั้งก่อนทำสัญญาประกันภัยหรือก่อนสัญญาประกันภัยเริ่มต้นมีผลคุ้มครอง
ข้อ ๑๐ ในกรณีผู้ขอเอาประกันภัยเป็นนิติบุคคลตามกฏหมาย ให้มีสิทธิชำระเบี้ยประกันภัยภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สัญญาประกันภัยมีผลใช้บังคับหรือเริ่มต้นมีผลคุ้มครอง
ข้อ ๑๑ ให้บริษัทจัดการให้ผู้ชำระเบี้ยประกันภัยในนามบริษัทตามข้อ ๖ ส่งเบี้ยประกันภัยที่ได้รับในรอบสิบห้าวันปฏิทินให้แก่บริษัทภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นรอบ ทั้งนี้บริษัทจะกำหนดรอบสิบห้าวันปฎิทินของผู้รับชำระเบี้ยประกันภัยในนามบริษัทแต่ละรายเป็นวันใดก็ได้
การส่งเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทตามวรรคแรก ต้องเป็นเงินสดหรือตั๋วเงินตามที่กำหนดในข้อ ๘
ข้อ ๑๒ ให้บริษัทจัดทำสมุดทะเบียนควบคุมการเก็บเบี้ยประกันภัยเพื่อให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ โดยในสมุดทะเบียนให้มีรายละเอียดอย่างน้อยดังนี้
๑๒.๑ รายชื่อและรอบระยะเวลาการส่งเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทของผู้รับชำระเบี้ยประกันภัยในนามบริษัทตามข้อ ๖ แต่ละราย
๑๒.๒ เลขที่กรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทออกให้เพื่อแสดงการรรับประกันภัยของบริษัท
๑๒.๓ จำนวนเบี้ยประกันภัยค้างรับจากผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฏหมาย และจำนวนเงินเบี้ประกันภัยค้างรับจากผู้รับชำระเบี้ยประกันภัยในนามบริษัทตามข้อ ๖
๑๒.๔ อายุหนี้ของเบี้ยประกันภัยค้างรับตาม ๑๒.๓
ข้อ ๑๓ ในกรณีที่ผู้รับชำระเบี้ยประกันภัยในนามบริษัทตามข้อ ๖ ไม่ส่งเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทภายในกำหนดในประกาศนี้ ให้สัญญาประกันภัยยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป แต่ให้บริษัทบอกเลิกหรือระงับการตั้งหรือมอบหมายหรือการมอบอำนาจให้บุคคลหรือนิติบุคคลดังกล่าวเป็นผู้รับชำระเบี้ยประกันภัยนั้นเสีย จนกว่าบุคคลหรือนิติบุคคลดังกล่าวจะส่งเบี้ยประกันภัยที่ค้างชำระให้แก่บริษัทจนครบจำนวน หากบริษัทยังคงให้ผู้รับชำระเบี้ยประกันภัยในนามบริษัทนั้นเป็นผู้ชักชวน ชี้ช่อง จัดการ หรือ รับชำระเบี้ยประกันภัยในนามบริษัทต่อไป จะถือว่าบริษัทมีการดำเนินการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน
ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ ธ.ค.๒๕๕๑
(นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล)
ปลัดกระทรวงการคลัง
ประธานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
|