หนี้สิน
Liabilities
หน่วยงานที่กำกับดูแลต้องกำหนดให้บริษัทประกันภัยปฏิบัติตามมาตรฐานในการตั้งเงินสำรองประเภทต่างๆ อย่างเพียงพอ โดยให้มีส่วนหักลดสำหรับการเอาประกันต่อ (allowance for reinsurance recoverables) หน่วยงานที่กำกับดูแลยังต้องมีทั้งอำนาจและความสามารถที่จะประเมินถึงความพอเพียงของเงินสำรองต่างๆ และยังสามารถออกคำสั่งให้เพิ่มเงินสำรองได้ หากจำเป็น
คำอธิบาย
20.1 บริษัทประกันภัยต้องสามารถระบุ แยกแยะ และกำหนดระดับภาระผูกพันที่ตนมีทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ การดำรงเงินสำรองทางเทคนิคอย่างพอเพียงเป็นหลักสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางการเงินและความพอเพียงของเงินทุน (sound capital adequacy and solvency regime) โดยเงินสำรองทางเทคนิค หมายถึง จำนวนเงินที่ปรากฏในงบดุลโดยตั้งขึ้นสำหรับการชดใช้ภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง embedded options เงินปันผลที่จ่ายแก่ผู้ถือกรมธรรม์ (policyholder dividends or bonuses) และภาษี
20.2 ควรมีการกำหนดมาตรฐานเพื่อให้บริษัทประกันภัยถือปฏิบัติในการคำนวณหนี้สินและภาระผูกพันต่างๆ โดยเฉพาะการดำรงเงินสำรองทางเทคนิคต่างๆ โดยมาตรฐานควรมีการระบุประเภทของหนี้สินและภาระผูกพัน อาทิ เช่น เงินสำรองสำหรับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (claims provisions) ซึ่งรวมถึงเงินสำรองสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมฯ สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่ได้รับรายงาน (provisions for claims incurred but not reported) เงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ได้ถือเป็นรายได้ของบริษัท (provisions for unearned premiums) เงินสำรองสำหรับการเสี่ยงภัยที่ยังมิได้สิ้นสุด (provisions for unexpired risks) เงินสำรองสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิต (life insurance provisions) และเงินสำรองสำหรับหนี้สินและภาระผูกพันอื่นหรือเงินสำรองทางเทคนิคอื่น (other liabilities or technical provisions) โดยมาตรฐานเหล่านี้ควรเป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับการกำกับดูแลฐานะความมั่นคงในด้านอื่นๆ ซึ่งมาตรฐานควรมีให้ระดับเงินสำรองทางเทคนิคเพียงพอต่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งที่คาดการณ์ไว้และที่มีได้คาดการณ์ (all expected and some unexpected claims and expenses) โดยใช้วิธีการคำนวณที่เชื่อถือได้ พร้อมทั้งสามารถเปรียบเทียบฐานะของบริษัทแต่ละแห่งได้ หน่วยงานที่กำกับดูแลควรมีทั้งอำนาจและความสามารถในการตรวจสอบความพอเพียงของเงินสำรองทางเทคนิค โดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่กำหนดและสามารถกำหนดให้เพิ่มเงินสำรอง หากหน่วยงานที่กำกับดูแลเห็นว่ายังไม่เพียงพอ โดยกระบวนการในการกำกับดูแลในส่วนนี้จำเป็นต้องใช้ทักษะทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย
คุณสมบัติที่จำเป็น
a เงินสำรองตามกฎหมายมีขึ้นเพื่อกำหนดระดับเงินสำรองทางเทคนิคและเงินสำรองสำหรับหนี้สินและภาระผูกพันอื่นให้มีความพอเพียง ตามหลักการทางบัญชีและคณิตศาสตร์ประกันภัย
b หน่วยงานที่กำกับดูแลเป็นผู้กำหนด หรือให้ความเห็นชอบต่อมาตรฐานในการดำรงเงินสำรองทางเทคนิค และเงินสำรองสำหรับหนี้สินและภาระผูกพันอื่น
c ในการกำหนดมาตรฐาน หน่วยงานที่กำกับดูแลควรพิจารณา
- ประเภทของหนี้สินและภาระผูกพัน
- กระบวนการและระบบการควบคุมภายในที่ทำให้ได้รับข้อมูลที่เชื่อถือได้
- วิธีการและสมมติฐานในการประเมินเงินสำรองทางเทคนิค ตามพื้นฐานของความน่าเชื่อถือ ตรงตามวัตถุประสงค์ โปร่งใส และมีความรอบคอบเหมาะสม เพื่อให้เพียงพอต่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งที่คาดการณ์ไว้และที่มิได้คาดการณ์ (all expected and some unexpected claims and expenses)
d หน่วยงานที่กำกับดูแลควรทบทวนความพอเพียงของเงินสำรองทางเทคนิค โดยการตรวจสอบ (off-site monitoring) และการเข้าตรวจสอบ ณ สถานที่ทำการ (on-site inspection)
e หน่วยงานที่กำกับดูแลควรกำหนดให้มีการเพิ่มเงินสำรองทางเทคนิค หากเห็นว่ายังไม่พอเพียง
f หน่วยงานที่กำกับดูแลควรให้มาตรฐานมีการกำหนดถึง
-ระดับในการประเมินส่วนที่สามารถเรียกคืนได้จากการทำประกันภัยต่อ (amounts recoverable under reinsurance arrangements) กับบริษัทประกันภัยต่อแต่ละราย โดยพิจารณาในแง่ความมั่นคง ซึ่งรวมถึงผลในการเรียกค่าเสียหาย (ultimate collectability) และผลในการโอนความเสี่ยงภัย (real transfer of risk)
- หลักการทางบัญชีในการลงบันทึกรายการที่สามารถเรียกคืนได้จากการทำประกันภัยต่อ
- การมีส่วนหักลดจากเงินสำรองทางเทคนิคสำหรับการเอาประกันภัยต่อ (the credit for technical provisions for amounts recoverable under reinsurance arrangements) โดยมีการเปิดเผยส่วนที่สามารถเรียกคืนได้จากการทำประกันภัยต่อทั้งจำนวนรวมและสุทธิ (gross and net figures) ในงบการเงินของบริษัทประกันภัย |